บทเรียนของรัฐจากกัญชาสู่นโยบายสารเคมีการเกษตร

Last updated: 19 ต.ค. 2562  | 

วันที่ 18 ตุลาคม 2562 - 14:06 น.

 

"...บทเรียนจากเรื่องที่กล่าวมานั้น สอนให้เรารู้ว่า ในชีวิตจริง "อวิชชา"นั้นถูกนำมาใช้จนเกิดความเชื่องมงายผ่านการเล่นกับการสื่อสารข้อมูลลวง ซึ่งยากแก่การกลั่นกรองโดยประชาชนว่า อะไรถูก อะไรผิด ยิ่งมีข้อมูลมากมายเผยแพร่ต่อเนื่อง ความเชื่องมงายนั้นจึงมักมีอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความถี่บ่อยของการประชาสัมพันธ์ ตัวเซเลบที่นำเสนอ ฯลฯ จนทำให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติตามเกมส์ที่ต้องการได้อย่างไม่น่าเชื่อ..."

 

หากเราจำกันได้ และ "ยอมรับความจริง" เราจะพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชาอย่างมาก จนก่อให้เกิดความเชื่อ งมงาย ว่ากัญชามีสรรพคุณร้อยแปดพันเก้า รักษาโรคตั้งแต่หัวจรดเท้าทั้งที่จริงแล้ว การรักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆ นั้น การแพทย์สากลจะมุ่งที่จะศึกษาสรรพคุณของสารสกัดจากกัญชา และยังมีความรู้ที่จำกัดมาก จนยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานได้

ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของข้อมูลนั้นหมดไปตั้งแต่คลิกแรกที่ส่ง คนที่เป็นผู้เขียนข้อมูล ต่อให้เขียนดีอย่างไรก็ตาม ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างไรก็ตาม ก็จะสูญเสียสิทธิของข้อมูลไปโดยพฤตินัยตั้งแต่ปล่อยสู่โลกออนไลน์

เพราะข้อมูลต้นฉบับนั้นมีโอกาสสูงที่จะถูกเสริมแต่ง ต่อเติม หรือดัดแปลง โดยคนที่ดูเหมือนหวังดีแต่ประสงค์ร้าย หวังหาประโยชน์ ก่อนจะส่งต่อไปผ่านเครือข่ายสังคมของตนเราจึงไม่แปลกใจที่ปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม จะแพร่ระบาดไปทั้งสังคมไทยและสังคมโลก และยากแก่การต่อกร แม้รัฐจะเริ่มตื่นตัวกุลีกุจอหาทางพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อมาแก้ข่าวลวง เราแต่คงหวังผลได้ไม่มากนัก อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

"พฤติกรรมของคน" นั้นมักเกิดขึ้นผ่านการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลเชิงวิชาการ/ความรู้มาเป็นตัวชี้นำไม่มากนัก มีคนเคยศึกษาไว้พบว่าปกติมักไม่เกินร้อยละ 20 แต่มักเกิดจากอิทธิพลของบริบทแวดล้อม อารมณ์ ความคุ้นชิน มากกว่าเหตุผล/ความรู้หลายเท่า

การเคลื่อนไหวมวลชนในหลายต่อหลายสถานการณ์นั้นจึงมักใช้เทคนิคการโน้มน้าวใจตามแนวจิตวิทยาสังคม คือการก่อให้เกิดแรงดึงดูด/จูงใจ หรือแรงผลัก เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในสังคมมาประพฤติปฏิบัติตามเกมส์ที่ตนต้องการ

 

 

ทำอย่างไรบ้าง?

มีสองแนวทางหลักคือ

การสร้างแรงดึงดูดหรือแรงจูงใจ โดยล่อให้เกิดกิเลส ความอยากได้ อยากมี อยากรวย อยากหล่อ อยากสวย อยากเป็นอมตะ ยกตัวอย่างเช่น การประชาสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้คนหรือประเทศอยากรวยจากการปลูกพืชที่มีสารเสพติด

หรืออีกลักษณะหนึ่งที่ได้ผลพอกัน คือการสร้างแรงผลัก โดยทำให้เกิดความกลัว กลัวแก่ กลัวตาย กลัวพิการ กลัวผลข้างเคียงจากยาแผนปัจจุบัน เพื่อให้ติดกับดักความกลัว หันมาสู่ทางเลือกที่ตนต้องการนอกจากการสร้างแรงดึงดูด และแรงผลักแล้ว พฤติกรรมของคนจะถูกกำกับให้เป็นไปตามเกมส์ได้ง่ายขึ้น หากดำเนินการอีกสองเรื่อง ได้แก่

1. การออกแบบตัวบทกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา ให้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับคนหมู่มาก ยิ่งหากผู้หลอกล่อนั้นอยู่ในวงอำนาจ หรือมีสมัครพรรคพวกที่กุมการออกกติกาต่างๆ ได้ ยิ่งทำได้แบบเบ็ดเสร็จ

2. การจัดเตรียม จัดหา สินค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถประพฤติปฏิบัติอย่างที่ผู้กำหนดเกมส์ต้องการ เน้นทั้งเชิงปริมาณ และออกแบบระบบแจกจ่ายเพื่อเกื้อหนุนให้เข้าถึงได้ง่ายได้เร็ว

พอเข้าใจเช่นนี้แล้ว หากสังเกตความเป็นไปในสังคม จะพบว่า ความฉลาดแกมโกงจึงถูกนำมาใช้หาประโยชน์ส่วนตนได้ในแวดวงค้าขายกัญชา โดยเล่นกับพฤติกรรมของประชาชน ผ่านการใช้ข่าวลวงด้านกิเลสและความกลัวในการสื่อสารสาธารณะที่ขาดระบบควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการจัดระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจมืดที่หาเงินจากชีวิตคน

คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยจึงเกิดความเชื่อ งมงายเรื่องสรรพคุณแบบเว่อร์วัง ไม่ตรงกับหลักฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีที่ใช้จริงเพียงไม่กี่ข้อบ่งชี้ และยังไม่สามารถเอามาใช้ทดแทนยามาตรฐานได้เลย

กระแสสังคมไปกันอย่างแรงมาก จนใครท้วง ใครทัก เป็นโดนโจมตี ตีตราเค้าว่าเป็นคนไม่ดี มีผลประโยชน์แอบแฝงจากบริษัทยา ต้องกำจัดให้สิ้นซากเกิดการแพร่ระบาดค้าขายผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ และทำให้ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยนำไปใช้อย่างผิดๆ จนโรคกำเริบรุนแรง หรือเกิดผลข้างเคียงจนต้องหามส่งโรงพยาบาลกันมากมายดังที่มีการนำเสนอสถิติกันมาแล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลรักษาทางการแพทย์ และคุกคามต่อสวัสดิภาพของประชาชนนี้ จึงทำให้แพทยสภา ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ สมาคมวิชาชีพต่างๆ จึงต้องตัดสินใจร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลสรุปจากหลักฐานวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับกัญชาว่า มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อนำมารักษาโรคและบรรเทาอาการได้เพียงไม่กี่โรคเท่านั้น และไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา ไม่สามารถทดแทนยามาตรฐานได้

ที่น่าสนใจยิ่ง และควรเน้นย้ำคือ การนำมาใช้วงกว้างโดยอาศัยความเชื่อส่วนตัว โดยมิได้มีการผ่านการศึกษาตามขั้นตอนมาตรฐานสากลนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ และส่งผลต่อเรื่องการผิดจริยธรรมทางการแพทย์และการวิจัย

บทเรียนจากเรื่องที่กล่าวมานั้น สอนให้เรารู้ว่า ในชีวิตจริง "อวิชชา"นั้นถูกนำมาใช้จนเกิดความเชื่องมงายผ่านการเล่นกับการสื่อสารข้อมูลลวง ซึ่งยากแก่การกลั่นกรองโดยประชาชนว่า อะไรถูก อะไรผิด ยิ่งมีข้อมูลมากมายเผยแพร่ต่อเนื่อง ความเชื่องมงายนั้นจึงมักมีอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความถี่บ่อยของการประชาสัมพันธ์ ตัวเซเลบที่นำเสนอ ฯลฯ จนทำให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติตามเกมส์ที่ต้องการได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เฉกเช่นเดียวกับสารเคมีการเกษตร ที่กำลังทะเลาะกันรุนแรงในสังคม มีการเรียกร้องให้กำจัดสารเคมีการเกษตร โดยนำเสนอเรื่องความน่ากลัว ความตาย ความเป็นพิษ จนก่อให้เกิดกระแสสังคมรุนแรงสิ่งที่ "รัฐ" และ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ควรพิจารณาอย่างรอบคอบคือ การตัดสินใจเชิงนโยบายนั้นมีหลายทางที่ให้เลือกทำ

หากคิดจะแบน จะเกิดผลกระทบอะไร ต่อใครบ้าง และจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนหรือไม่ อย่างไร? หลายครั้งการประกาศนโยบายไปด้วยความหวังดี แต่อาจเกิดผลกระทบทางลบตามมา ที่เรียกว่า Negative externalityอาทิ หากแบนไปแบบไม่เตรียมมาตรการรองรับให้ดี อาจส่งผลต่อค่าครองชีพ ค่าอาหารการกิน และปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

หากจะทำให้ปลอดสารพิษทุกหัวระแหง แต่คนไม่สามารถเข้าถึงผลผลิตเพื่อกินประทังชีวิตได้ เพราะมีปริมาณไม่พอ ราคาแพง จะกลายเป็นเกิดปัญหาทุพโภชนาการ และต้องหันเหไปกินอาหารราคาถูกที่เน้นพลังงาน หวานเค็มมัน จนเป็นโรคเรื้อรังในอนาคตเป็นเท่าทวีคูณ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นไหม และจะจัดการอย่างไร

ดังนั้นการตัดสินใจนี้จึงต้องแน่ใจว่ามีทางเลือกพร้อม ปฏิบัติได้จริง และหากเกิดผลกระทบ จะมีคนที่กล้าหาญเพียงพอที่จะแอ่นอกรับผิดชอบทั้งนี้มีข้อมูลวิชาการจากต่างประเทศมากมายที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้แน่นอนแต่หากจะไม่แบน แต่จะควบคุมการใช้ให้รัดกุมกว่าเดิม ก็ต้องแน่ใจว่าจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการจัดการผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวล

5 วันถัดจากนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเราเรียนรู้จากเรื่องกัญชายาเสพติดไปแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร จากการเล่นด้วยกิเลส ความกลัว โดยได้รับอิทธิพลจากข่าวลวงที่เจือปนเผยแพร่อย่างมากมายและต่อเนื่อง จนธุรกิจกัญชานั้นเติบโตตามความต้องการของใครสักคนสักกลุ่ม หรือหลายคนหลายกลุ่ม?

การตัดสินใจเชิงนโยบายเรื่องสารเคมีการเกษตรนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากมาย ไม่ใช่แค่ต่อเกษตรกรชาวนาชาวไร่ แต่หมายรวมถึงคนทั้งประเทศในระยะยาวก่อนตัดสินใจนโยบายนี้ จงถามใจตนเองให้ดีว่า เข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้จริงๆ หรือไม่ ใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ แล้วหรือไม่ โปรดอย่าอ้างว่าเป็นฝ่ายบริหาร ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกเรื่องวิชาการ

เพราะหากอ้างแบบนั้น นั่นย่อมบ่งชี้ว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของบ้านเมือง จะเป็นไปตามสิ่งที่ถูกป้อนเข้าหู โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ที่ป้อนเข้าหูมานั้น จริงเท็จเพียงใดและย่อมมีแนวโน้มที่การตัดสินใจนั้น อาจได้รับอิทธิพลจากกิเลสหรือความกลัว มากกว่าเหตุผลและความรู้ เราจะยอมให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

อ้างอิง: https://www.isranews.org/isranews-article/81605-kancha_81605.html

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้