สธ.- อย.เผย กัญชงกับกัญชายังเป็นยาเสพติด เว้นสกัดแล้ว

Last updated: 3 ก.ย. 2562  | 

วันที่ 3 กันยายน 2562 - 11:25 น.

บิ๊กกระทรวงสาธารณสุข-อย. จัด แถลงดาหน้ายัน “กัญชา-กัญชง” ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แจงมีการยกเว้นกัญชาเพียงสารซีบีดี ซึ่งใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ส่วนกัญชงจะให้ใช้ส่วน “เมล็ด-นํ้ามันจากเมล็ด” ประกอบในอาหารและเครื่องสำอางได้ แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากไทยเท่านั้นเช่นกัน แต่ก็ต้องมีการปรับแก้ประกาศกระทรวงเพิ่ม ขณะที่ “อนุทิน” ปัดปลดล็อกกัญชง-กัญชาเอื้อกลุ่มทุน ย้ำ อย.ต้องชี้แจงเป็นภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์เทคนิค

จากกรณีเกิดกระแสในโลกออนไลน์มีแชร์ข้อความว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชา-กัญชง จากบัญชียาเสพติดให้โทษ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน และบางส่วนมองว่าเป็นประกาศที่อาจส่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าคนไทยจะได้ประโยชน์ ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ก.ย.ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว “สธ.แจงกรณีประกาศฯ ปลดล็อกสารสกัดในกัญชาและกัญชงตามคุณสมบัติที่กำหนด” ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทำความเข้าใจกรณีดังกล่าว

นพ.สุขุมกล่าวว่า เรื่องการนำกัญชากัญชงมาใช้ประโยชน์นั้น ชัดเจนว่าเป็นเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งในกัญชงมีการใช้เส้นใยในอุตสาหกรรม จึงพิจารณาว่าควรต้องนำมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงได้ออกออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ทั้งกัญชาและกัญชง ที่สำคัญประกาศดังกล่าวให้ผลิตภายในประเทศไทย ไม่ได้มีการเอื้อหรือนำเข้ามาอย่างการผลิตสารซีบีดี (CBD) บริสุทธิ์ ก็จะเป็นการผลิตในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ขณะที่ นพ.ธเรศกล่าวว่า สำหรับประกาศกระทรวง ที่ออกมา 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่องกำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2562 ยังคงกำหนดให้ทั้งกัญชากัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่มีการยก เว้นบางกรณี เนื่องจากพบว่ามีสารที่ใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยพืชกัญชาที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติด คือ สารซีบีดีบริสุทธิ์ ซึ่งใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น 2.สารทีเอชซี (THC) ต่ำไม่เกินร้อยละ 0.2 สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ 3.กัญชง ในส่วนเมล็ดกัญชง และน้ำมันจากเมล็ดกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหาร และ 4.น้ำมันจากเมล็ดและสารสกัดจากเมล็ดใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง

โดยยังกำหนดว่าใน 5 ปีแรก สิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ของนำเข้า จึงขอย้ำว่า อย.ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้นเราทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนไทย และการกำหนดตามประกาศดังกล่าวส่วนหนึ่ง ยังเป็นการรองรับในอนาคตที่องค์การอนามัยโลกจะมีการพิจารณาปลดล็อกซีบีดีจากยาเสพติดในช่วงปี 2563 อย่างไรก็ตาม จะมีการแจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประกาศผ่านเว็บ ไซต์ใน อย.ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะอนุญาตให้เอกชนปลูกกัญชงได้เมื่อไหร่ นพ.ธเรศกล่าวว่า กฎกระทรวงเดิมเกี่ยวกับกัญชง เขียนว่า ผู้อนุญาตการปลูกต้องเป็นภาครัฐ เราได้รับมอบจากนายอนุทินในการปรับแก้กฎกระทรวง เพื่อให้เอกชนเข้ามาขออนุญาตปลูกได้ แต่ต้องเป็นคนภายในประเทศเท่านั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน โดยกฎกระทรวงหากร่างเสร็จแล้ว ก็จะมีการทำโฟกัสกรุ๊ป และทำประชาพิจารณ์โดยกว้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ตามกฎกระทรวงเดิมภาครัฐต้องอนุญาตและต้องเป็นพันธุ์ที่มีการรับรอง แต่เน้นเส้นใยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยพื้นที่สูงได้ขออนุญาตปลูกแล้ว ส่วนสายพันธุ์กัญชงที่จะอนุญาตให้ปลูกนั้นเดิมมีการขึ้นทะเบียน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีทีเอชซีต่ำอยู่แล้ว

แต่ในรายละเอียดคงต้องพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องขอหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนก่อน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปรับแก้กฎหมายรองรับกัญชงนั้น จะพิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวง เกี่ยวกับเครื่องสำอาง 1 ฉบับ โดยให้นำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงและเมล็ดกัญชงใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้ และแก้ประกาศกระทรวงเกี่ยวกับอาหาร 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการกำหนดให้นำเมล็ดกัญชงและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงใช้ในอาหารได้ และกำหนดมาตรฐานของอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชง

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมล็ดกัญชงปัจจุบันเป็นที่ปรารถนาของนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีโอเมก้า 3 โดยมีการศึกษาอย่างน้อย 2 รายการพบว่ามีการป้องกันเส้นเลือดตีบในคนที่เคยเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ร้อยละ 20 ไม่ให้เป็นซ้ำ และป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยหัวใจวายกลับมาเป็นซ้ำอีก อาจกล่าวได้ว่าทั้งต้นของกัญชงใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัญชาทั้งช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง

ส่วน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หลังจากองค์การเภสัชกรรมส่งยากัญชาตำรับศุขไสยาสน์ให้แก่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย 13 แห่ง จำนวน 1,950 ซอง โดยวันที่ 2 ก.ย.เป็นวันแรกที่มีการจ่ายยา แต่มี รพ.เพียง 3 แห่ง ที่สามารถจ่ายยาตำรับสุขไศยาสน์ได้ ได้แก่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กทม., โรงพยาบาลเสาไห้ จ.สระบุรี และโรงพยาบาลบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เนื่องจากความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การจ่ายยาครั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ เนื่องจากการรักษาคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยผู้ป่วยต้องผ่านการคัดกรองด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่มีค่าตับค่าไตเกินเกณฑ์มาตรฐาน และไม่มีประวัติการใช้สารเสพติด หรือป่วยจิตเวชมาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีนายยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง ออกมาแสดงความกังวลต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชงและกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 อาจเอื้อกลุ่มทุน ว่าเรื่องดังกล่าวได้จัดการปัญหาและความเข้าใจผิดทั้งหมดแล้ว ยืนยันว่าไม่มีอะไร และไม่มีใครวางยา ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการปกป้องคุ้มครองเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุน หรือบริษัทใด รวมถึงยังเป็นการควบคุมสารสกัดกัญชงให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน และย้ำว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีส่วนดีมากกว่าไม่ดี เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนายยืนยง เบื้องต้นได้สั่งให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงสร้างความเข้าใจกับประชาชนเร็วๆนี้ด้วยภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์เทคนิค

 

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/1651643

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้