คลายข้อสงสัย กับการปลดล็อกสารสกัดกัญชา-กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติด

Last updated: 3 ก.ย. 2562  | 

วันที่ 3 กันยายน 2562 - 11:08 น.

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ยกเว้นการควบคุมสารสกัดกัญชา-กัญชง และบางส่วนของพืชกัญชงที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่านี่เป็นการปลดล็อกการปลูกกัญชาหรือไม่

ประกาศฉบับนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของนโยบายสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ของ สธ. แต่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าประกาศนี้มีผลอย่างไรกันแน่ บีบีซีไทยรวบรวมคำชี้แจงของประกาศนี้และข้อกังวลของผู้ติดตามกัญชาทางการแพทย์เพื่อคลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

ปลดล็อกสารสกัด ไม่ใช่ปลดล็อกการปลูก

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) 2562 ที่ออกเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ไม่ได้เป็นการถอดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ในประกาศระบุไว้ว่า ทุกส่วนของพืชกัญชา ทั้งใบ ดอก ยอด ผล รวมทั้งวัตถุหรือสารต่าง ๆ เช่น ยาง น้ำมัน ในพืชกัญชา รวมทั้งทุกส่วนของพืชกัญชงยังคงเป็นยาเสพติด

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 ระบุว่า กัญชงเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา มีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 0.5% ต่อน้ำหนักแห้ง นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามของเมล็ดพันธุ์กัญชงว่ามีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 0.3% ต่อน้ำหนักแห้ง

เกี่ยวกับประกาศกำหนดลักษณะกัญชง นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงในวันนี้ (2 ก.ย.) ว่าจุดประสงค์ก็เพื่อแยกกัญชาและกัญชงออกจากกัน เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับการอนุญาตใช้กัญชาต่อไปในอนาคต และมุ่งส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

ขอบคุณภาพจาก: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ไม่ได้ยกเว้นการควบคุมน้ำมันสกัดกัญชา

อะไรบ้างที่ถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติด

สารที่ออกฤทธิ์หลักของกัญชาที่ถูกมาใช้ทางการแพทย์มี 2 ตัว ได้แก่ แคนนาบิไดออล หรือ CBD และ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ซึ่งมีคุณสมบัติทางการรักษาแตกต่างกัน แต่ THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในการรักษาแต่ละโรค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยไว้บางโรคที่ไม่ควรใช้สาร THC

ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) 2562 มีการปลดล็อก ดังนี้

- สารสกัดในพืชกัญชงและพืชกัญชา ได้แก่ แคนนาบิไดออล (CBD) บริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับ 99% โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก

- ผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลัก และสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก (ในกัญชาและกัญชง) ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร

- เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ให้สามารถใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ แต่เมล็ดที่ใช้ต้องเป็นเมล็ดที่ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้หรือถูกทำให้ไม่มีชีวิต

- เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากส่วนประกอบนี้ของกัญชาและกัญชง (มีการยกเว้นการควบคุมอยู่แล้วตามกฎหมายเดิม)

- ทั้งหมดนี้ ใน 5 ปีแรกหลังจากประกาศกฎกระทรวง กำหนดเฉพาะให้กับการผลิตในประเทศของผู้รับอนุญาตตามกฎหมาย

ปลดล็อกแล้วได้อะไร

การกำหนดปริมาณสาร CBD และสาร THC ในประกาศกระทรวงฉบับนี้ ภาคประชาชนที่ติดตามการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์จับตาไปที่ การยกเว้นการควบคุมสารสกัดจาก "กัญชง"

มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยโพสต์ข้อความแสดงความเห็นทางเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิฯ ว่า นี่อาจเป็นการ "ขันล็อกกัญชง" และ "ล็อกสเปค" สาร CBD มากกว่าการปลดล็อก และส่อว่าจะเอื้อต่อนายทุนมากกว่าผู้ผลิตในประเทศ

ขอบคุณภาพจาก: ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชงในอิตาลี ในภาพนี้คือเส้นพาสต้า น้ำมันปรุงอาหาร ซอสมะเขือเทศ และซอสเพสโต้

ไบโอไทยตั้งข้อสังเกตว่า กัญชงสายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยจะมีสาร THC ประมาณ 0.6-1% ที่ผ่านมาจึงมีการกำหนดให้กัญชง (กัญชาที่มี THC ต่ำ) อยู่ในระดับดังกล่าว แต่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ที่ 0.5%

ส่วนการกำหนดปริมาณของสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD โดยต้องมี THC ต่ำ ๆ ตามในประกาศ ไบโอไทยระบุว่า กัญชงสายพันธุ์ไทยมีข้อจำกัด และหากจะพึ่งสายพันธุ์ต่างประเทศ การสกัดโดยประชาชนเพื่อให้ได้น้ำมันที่มี THC 0.2% นั้นก็ ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ

กรณีนี้ เลขาธิการ อย. ได้ชี้แจงว่าเจตนารมณ์ในการกำหนดปริมาณตามประกาศก็เพื่อจะใช้เป็น "สารมาตรฐานในห้องแล็บ"

"ใช้เฉพาะในห้องแล็บเท่านั้น เราจะใช้กลไกของ อย. ในการตรวจสอบการนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสารมาตรฐานอย่างเดียว" เลขาธิการ อย. ระบุ และชี้แจงว่า เดิมที่กำหนดไว้ที่ 1% เพราะนำกัญชงไปใช้แค่ส่วนของเส้นใย (อุตสาหกรรมนุ่งห่ม) อย่างเดียว เมื่อปลดล็อกสารสกัดจึงพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงกำหนดปริมาณของ THC ไว้ต่ำ

ภาคประชาชนร้องทบทวนใหม่

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศฉบับนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากประกาศฉบับเดิมปี 2559 ที่กำหนดปริมาณสาร THC ในกัญชงไว้ 1% ซึ่งคาดว่าเป็นการกำหนดปริมาณจากกัญชงสายพันธุ์ไทย

ขอบคุณภาพจาก: องค์การเภสัชกรรม

นายปานเทพซึ่งเดินทางไปที่ อย. ในวันนี้ เรียกร้องให้ อย. ระบุให้ชัดเจนในกฎหมายว่า เป็นการบังคับใช้เฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้นตามที่มีการชี้แจง พร้อมขอให้ทบทวนสัดส่วนปริมาณสาร เนื่องจากอาจไม่รองรับความหลากหลายของสายพันธุ์กัญชงไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

"เราเป็นห่วงมากว่าประชาชนไม่มีทางทำได้ นอกจากซื้อเครื่องขนาดใหญ่มูลค่าหลายสิบล้านเพื่อมาสกัดบริสุทธิ์" นายปานเทพระบุ "พันธุ์ไทยมีอยู่น้อยมาก ๆ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แล้วรัฐไปกำหนดเมล็ดพันธุ์พืช ทำไมถึงปิดกั้นเฉพาะแค่นี้...กัญชาที่ว่ายากแล้ว กัญชงก็ยากที่จะปลดล็อก"

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ เสริมว่า ในทางการแพทย์มีความต้องการสาร CBD สูงกว่า THC แต่ CBD ยังมีปริมาณน้อย เขาเสนอว่าทางออกจึงอาจเป็นการยอมรับสายพันธุ์ที่มีสาร THC ที่มากกว่าเล็กน้อย และเสนอให้มีการเปิดให้การทำประชาพิจารณ์กำหนดสัดส่วนใหม่

"ขุมทรัพย์มหาศาลของกัญชงอยู่ที่ดอกและใบที่มีสาร CBD แต่ทำอย่างไรจึงจะเป็นมาตรฐาน ตรงนี้สาร THC น่าจะเป็น 0.2-1%"

เมล็ดกัญชง และน้ำมัน-สารสกัดจากเมล็ดกัญชง ปลดล็อกเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องสำอาง

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการยกเว้นการควบคุมสารสกัดกัญชา กัญชง และบางส่วนของพืชกัญชงตามประกาศล่าสุด ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ว่าเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำยา สมุนไพร อาหารและเครื่องสำอาง

ที่ผ่านมาสายพันธุ์เดิมของกัญชงประเทศไทยถูกใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่วนเมล็ดกัญชงมีสารโอเมกาสูง ใช้ทำเป็นอาหาร ขณะที่น้ำมันจากเมล็ดกัญชง ใช้ทำเครื่องสำอางจากคุณสมบัติที่มีไขมันสูง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การยกเว้นการควบคุมต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ ไม่ใช่การอนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า

 

 ที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-49550483

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้