กัญชาจากพืชร้ายสู่ยาวิเศษสู้ โรคร้อยเหตุผลกัญชาไทยเจ๋งสุดในโลก

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย ถกหน้าดำคร่ำเครียดถึงผลดีผลร้ายของการปลดล็อก “กัญชาเสรี” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่สร้างรายได้เข้าประเทศ หลังผ่านฉลุยรับรองกฎหมายใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เปิดทางให้สามารถศึกษาวิจัยและปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอยู่ใต้ดิน ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ “นาวาอากาศเอก (พิเศษ) หญิง จินตนา มโนรมย์ภัทรสาร”แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ยืนกรานว่า “กัญชา” ไม่ใช่พืชร้ายอย่างที่คนไทยหวาดกลัวกัน แต่อันที่จริงคือสมุนไพรทางเลือกที่มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการแพทย์ไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งระยะสุดท้าย, โรคลมชัก และพาร์กินสัน นี่คือยาวิเศษที่ฟ้าประทาน

“เมื่อหลายปีก่อนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก หลังจากหมอได้รับมอบหมายให้เป็นประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีหน้าที่ประคับประคองดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งมีผู้ป่วยในอยู่เป็นร้อยเตียง ผู้ป่วยนอกไปกลับทุกวันเกือบ 1,000 คน คนไข้เหล่านี้ต้องถูกพิพากษาตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ต้องผ่านขั้นตอนการรักษา ทั้งผ่าตัดเนื้อร้ายทิ้ง, ทำคีโม และฉายแสง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง ต้องคลื่นไส้อาเจียนกินไม่ได้, เลือดออก, โคม่าไม่รู้สึกตัว หลายคนเป็นทุกข์ทั้งทุกข์กายทุกข์ใจ และทุกข์กระเป๋า ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเห็นใจมาก ในฐานะหมอไม่ว่าจะมีทางเลือกไหนที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้พวกเขาได้ผ่านช่วงเวลาทรมานที่สุด อ่อนไหวอ่อนแอ และเปราะบางที่สุดไปได้อย่างมีคุณภาพที่สุด หมอก็ยินดีจะทำเพื่อคนไข้เหล่านี้ หมอคิดตลอดว่าถ้าเราเจอวิธีไหนที่สามารถดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายได้นุ่มนวลกว่าที่เคยเป็น ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ ทนทุกข์ทรมานน้อยที่สุด หมอก็จะทุ่มเทกำลังและสติปัญญา เพื่อขวนขวายหาทางช่วยคนไข้”...“หมอต้อย” เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เบนเข็มมาสู่การวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์อย่างจริงจัง

จากผู้เชี่ยวชาญการฝังเข็มและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผันตัวมาสู่การวิจัยเรื่องกัญชาได้อย่างไร


เมื่อ 3 ปีก่อน หมอเข้าอบรมความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์โดยบังเอิญ เจอปั๊บปิ๊งไอเดียทันที รู้เลยว่านี่คือสิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้คนไข้ของเราได้

อะไรทำให้มอง “กัญชา” มิติใหม่ เปลี่ยนจากสิ่งเสพติด มาเป็นยารักษาโรคขนานเอก

 


ถ้าศึกษาให้ลึกจริงๆ “กัญชา” อยู่ในตำรับยาแผนไทยตั้งแต่สมัยโบราณกาล เริ่มมีการนำกัญชามาใช้เพื่อการแพทย์ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการจารึกไว้ในคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ เกี่ยวข้องกับกัญชา 4 ตำรับคือ “สุขไสยาสน์” เป็นตำรับยาช่วยให้ผ่อนคลายนอนหลับสบาย, แก้ปวด, คลายเครียด ส่วน “ทำลายเขาพระสุเมรุ” ประกอบด้วยสมุนไพรกว่า 20 ชนิด และมีกัญชาเป็นส่วนประกอบสำคัญ สรรพคุณแก้อาการลมชัก, ปากเบี้ยว, ตาแหก เทียบเคียงได้กับอัมพาตอัมพฤกษ์ และเส้นเลือดในสมองแตก ขณะที่ “น้ำมันสนั่นไตรภพ” ใช้สมุนไพร 16 ชนิด ผสมน้ำมันงา โดยหนึ่งในนั้นมีใบกัญชาสดเป็นส่วนประกอบสำคัญ น้ำมันนี้ใช้ทาแก้อาการท้องมาน สามารถรักษาอัมพาตอัมพฤกษ์ได้บางส่วน อีกตำรับหนึ่งที่จารึกไว้ที่วัดโพธิ์และมีส่วนประกอบของกัญชาคือ “ยาแก้ฝีรวงผึ้ง” เทียบเคียงกับมะเร็งตับระยะแรก เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบได้ 1,200 ตำรับ แต่คัดเลือกเหลือ 90 ตำรับ ซึ่งเบื้องต้นมี 16 ตำรับ ที่จะรับรองเป็นตำรับยาแห่งชาติ นำเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยคัดเลือกแล้วว่าพิสูจน์ผลเห็นจริง ปรุงง่ายหาไม่ยาก, ใช้สะดวก และสามารถใช้ได้ทันที มีอาทิ ยารักษาโรคผอมแห้งแรงน้อย, ยาแก้โรคจิต, ยากันชัก, ยารักษาเบาหวาน, ยาทำให้หลับสบาย และยาคลายกษัยเส้น

ตำรับยากัญชาแห่งชาติสามารถหาซื้อได้ทั่วไปไหม


แพทย์ผู้มีสิทธิ์ใช้ตำรับยาเหล่านี้เพื่อการรักษาคือ แพทย์แผนไทย, แพทย์แผนไทยประยุกต์, เภสัชกร, ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ฉะนั้นคนไข้ต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะใช้ได้ถูกกฎหมาย



ในระดับนานาชาติมีความตื่นตัวเรื่อง “กัญชาเสรี” มากน้อยแค่ไหน


เมื่อเร็วๆนี้องค์การอนามัยโลกประกาศให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ 4 ประเภทคือ โรคปลายประสาทอักเสบ, โรคลมชัก, อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังใช้คีโมรักษามะเร็ง และแก้ปวด ในโลกนี้มีประเทศที่ประกาศให้ใช้กัญชาอย่างเสรีคืออุรุกวัย ขณะที่ในหลายประเทศนำกัญชามาใช้ทั้งทางการแพทย์และผสมลงในอาหารโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, แคนาดา หรือออสเตรเลีย เฉพาะที่แคนาดาพัฒนาและใช้กัญชาทางการแพทย์จริงจังมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่เพิ่งมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเมื่อไม่กี่ปีก่อน แถมยังพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเอง และปลูกเป็นระบบปิดในโรงเรือน เพื่อควบคุมคุณภาพของกัญชา

ในทัศนะของคุณหมอ กัญชาจะกู้ชาติได้จริงไหม




โลกเปลี่ยนไปนานาชาติใช้กัญชาเป็นยาแล้ว ไทยก็ไม่ควรกลัวกัญชาเป็นยาเสพติด และปิดกั้นเรื่องการใช้ทางการแพทย์ บอกเลยว่าในอดีตสายพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดในโลกคือพันธุ์ไทย แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ เราเสียเวลามามาก ปล่อยให้ประเทศอื่นๆนำไปพัฒนาสายพันธุ์ดีกว่ากัญชาไทยแล้ว ทั้งๆที่เรามีแหล่งปลูกที่ดีมากๆอยู่แถบอีสาน ลุ่มแม่น้ำสงคราม วิ่งมาที่นครพนม, สกลนคร และมุกดาหาร แล้วเลี้ยวอ้อมไปแม่น้ำโขง ดินแดนแถบนี้คือแหล่งปลูกกัญชาที่ดีที่สุดในโลก สายพันธุ์ของแถบนี้เรียกว่า “สาหร่ายหางกระรอก” จะออกดอกเป็นพวงเหมือนหางกระรอก จริงๆแล้วกัญชาในประเทศไทยยังมีดีอีกหลายท้องถิ่น รวมถึงสายพันธุ์ดอยปุย, สายพันธุ์แก่งกระจาน และสายพันธุ์มวกเหล็ก


เราจะชนะคู่แข่งที่เป็นมหาอำนาจได้อย่างไร


หมอเชื่อว่าประเทศไทย มีความพร้อมในทุกมิติที่จะศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชาเป็นยา อันดับแรกเลยเรามีสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เรายังมีนักวิชาการด้านเกษตร ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาสายพันธุ์พืช ทำให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีสารสำคัญเพื่อใช้ทางการแพทย์ในปริมาณสูงกว่าคู่แข่ง อีก อย่างคนไทยมีองค์ความรู้ลึกซึ้งในด้านเภสัชกรรมยา ถ้าให้เราไปทำอุตสาหกรรมยาที่เป็นสารเคมี ยังไงก็ไม่มีทางแข่งกับประเทศอื่นได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของสมุนไพร หมอเชื่อมั่นว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยเต็มๆ และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

สารสำคัญในกัญชาที่แข่งกันพัฒนาเพื่อ นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง


มีหลักๆอยู่ 2 ตัวคือ CBD มีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล กับ THC มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายและลดอาการเจ็บปวด กัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสารสองตัวนี้ไม่เท่ากัน สายพันธุ์ไทยมีสารสำคัญทั้งสองตัวสูง ตรงนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบ ที่สำคัญกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน หากปลูกในประเทศไทยจะใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดอย่างแคนาดา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดปี ต้องปลูกกัญชาในโรงเรือน ที่ควบคุมอุณหภูมิ, แสง และน้ำ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงกว่ามาก



อนาคตของกัญชาไทยสดใสแค่ไหน มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะยึดตลาดโลก
ก่อนอื่นเราต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์และสกัดสารสำคัญออกมาให้ได้ตามที่ตลาดต้องการรวมทั้งกำหนดรูปแบบการใช้งานชัดเจน เช่น จะเป็นในรูปแบบของน้ำมัน, ยากิน, ยาเหน็บ หรือสูดดมระเหย ขณะเดียวกันก็ต้องทำบัญชีว่ามีโรคอะไรที่สามารถรักษาให้หายได้บ้าง และมุ่งหน้าศึกษาวิจัยต่อในส่วนของกลุ่มโรคที่ผลการรักษายังไม่ชัดเจน

คนไทยไม่ได้ฝันเฟื่อง “กัญชา” กำลังจะเป็นฮีโร่กู้ชาติฟื้นเศรษฐกิจไทย

 

ที่มา : www.thairath.co.th/news/society

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้