กัญชากับคุณค่าทางการแพทย์ที่ให้โอกาสใหม่ของผู้ป่วยในคนไทย !!

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

พันธุ์บุรีรัมย์”มหกรรมความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันให้แก่ผู้เจ็บป่วย ผู้ที่มีความสนใจเรื่องสุขภาพ และประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจในการใช้กัญชาบนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง

 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 คนจากหน่วยงาน อาทิ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ
   

          เนวิน ชิดชอบ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ยืนยันว่ากัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าทางการแพทย์ หลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทย อนุญาตให้มีการผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้ศึกษาวิจัยและระบุว่า สารสกัดในกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่มีสรรพคุณรักษาโรค และมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์



          “ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ด้านความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ได้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมกัญชาในร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปอย่างเปิดเผยและได้รับความนิยม ไม่น้อยกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างสินค้าที่คนไทยทำได้ และมีตลาดรองรับ อยู่ที่เราจะเลือกว่าเราเลือกเป็นผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ หรือเลือกที่จะเป็นผู้ซื้อ ผู้บริโภค และต้องจ่ายเงินออกไป กัญชาไม่ใช่แค่ยาเพื่อผู้ป่วย แต่เพื่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังเป็นโอกาสใหม่ของคนไทย”


          นพ.สมยศ กิตติมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง กล่าวว่าหลังจากศึกษามากขึ้นจึงรู้ว่าตัวกัญชาไม่ได้มีฤทธิ์เสพติดเหมือนที่เคยพูดกันมา ที่สำคัญสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีเขียนเอาไว้ชัดเจนว่ายาหลายๆ ตำรับมีการนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งหลายประเทศพิสูจน์มาแล้วจากงานวิจัย
 



          “เราแก้ปัญหาง่ายๆ ได้หลายอย่าง ใช้ในรูปแบบสมุนไพร ประหยัดเงินค่ายา ไม่สะสมตกค้างในร่างกาย ไม่มีผลข้างเคียง งานพันธุ์บุรีรัมย์เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่จะตอบคำถามว่า คนไทยจะใช้กัญชารักษาโรคด้วยตัวเองได้หรือไม่ มีวิธีการอย่างไรบ้าง”
    

          ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงศ์ศิริ  ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า กัญชามีสาร 2 ชนิดหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด ซึ่งปัจจุบันมีการนำกัญชามาสกัดเป็นน้ำมันเพื่อนำสารทั้ง 2 ชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และเอชไอวี




          "กัญชาสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่ สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดประกอบธุรกิจได้อีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนำไปใช้ประกอบอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ช็อกโกแลต ซอสปรุงรส ฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจแสนล้าน สามารถส่งออกต่างประเทศได้กำไรมหาศาล เช่นเดียวกับที่ประเทศชั้นนำของโลกเริ่มลงมือกันแล้ว”   
  

          ทั้งนี้ภายในงาน "พันธุ์บุรีรัมย์” ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ มีนิทรรศการการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย, นิทรรศการจำลองการปลูกจนถึงกระบวนการสกัดเป็นน้ำมันกัญชา, นิทรรศการกัญชาสายพันธุ์ต่างๆ, กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชา นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้จดแจ้งครอบครองกัญชาแก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ โดยงานเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์เข้าร่วมได้ฟรีมีลงทะเบียนและรับรักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 
          นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอองค์ความรู้วิชาการ หัวข้อบูรณาการกัญชาเพื่อการแพทย์ โดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์ แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งเสวนา “กัญชงและกัญชาทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” โดย นพ.สมนึก ศิริพานทอง อาจารย์รสสุคนธ์ ธนธีระบรรจง ​กัญชากับโรคลมชัก นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์
   

          เสวนา “การสกัดการควบคุมคุณภาพ การวิเคราะห์ การหาสูตรโครงสร้างของไฟโตเคมิคัลแคนนาบินอยด์ในพืชกัญชง กัญชา” โดย ผศ.ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต กาญจนบุรี และรสสุคนธ์ ธนธีระบรรจง หัวหน้างานตรวจพิสูจน์สารเสพติด สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ 
  

          ​​เสวนา “พฤษศาสตร์ GI การปลูก และการผลิตทั่วไปและแบบแม่นยำในพืชกัญชง กัญชา” โดย ผศ.ดร.ธรรมรันต์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกัญชากับโรคปวดระบบประสาท โดย นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์ และหมอแก้มหอม ณ ลานช้าง (แม่มดกัญชา) ที่จะมาบรรยายในหัวข้อ กัญชาทางการแพทย์ของ ดร.อูม่า และธุรกิจกัญชาในต่างประเทศด้วย 


          ขณะเดียวกันยังมีกลุุ่มต่างๆ มาร่วมออกบูธ อาทิ  อีสานเขียว, บูรพา, พรรคเขียว, ยิ้มสยาม, บุญเติม สายเขียว, รู้กัญ 420, เพื่อผู้ป่วย, เจ๋ง ภาคเพียร, องค์กรกัญชาเพื่อการป้องกันรักษาโลก, กลุ่มยิปซี, กลุ่มอินเดียนคาวบอย, ปฏิวัติกัญชา, กัญชามหาชน, ศูนย์กัญชาไทย  เป็นต้น
ดึงกลุ่มใต้ดินช่วยแพทย์รักษาคนไข้


          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องมีองค์กรกลาง หรือหน่วยงานกลางเป็นผู้ประสานกลุ่มคนใต้ดิน หรือผู้ที่มีความรู้ในการใช้กัญชารักษาโรคที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน เพื่อให้พวกเขามาช่วยเหลือกันในการใช้กัญชารักษาโรค เนื่องจากมีองค์ความรู้เรื่องนี้ โดยต้องให้มาช่วยหรือเสริมทัพกับทางแพทย์แผนปัจจุบันที่จะอบรมการใช้กัญชารักษาโรครุ่นแรกจำนวน 200 คน เพราะถ้าแพทย์แผนปัจจุบันฝ่ายเดียวไม่มีทางเพียงพอ จึงต้องเข้ามาร่วมเป็นเพื่อนแพทย์ในการใช้กัญชารักษาผู้ป่วยด้วยกัน


          ขณะเดียวกันวานนี้ (18 เม.ย.) วัฒนา โมสิกมาศ ประธานสภากัญชาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริหาร และที่ปรึกษา พร้อมด้วยประธานสภากัญชาทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอรับความสนับสนุนการจัดตั้งสภากัญชาแห่งประเทศไทย ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และขอให้เกษตรกร ประชาชนในนามสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ร่วมปลูกกัญชาในทุกตำบล พร้อมศูนย์รักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาในทุกอำเภอของประเทศไทย โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง


นำร่อง“แม่แตงโมเดล”ดันกัญชาบำบัดยาเสพติด    

 


       

  ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง ฉายา “แม่มดกัญชา” ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ทางเลือกและแพทย์สมุนไพรจากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการใช้กัญชาบำบัดผู้ที่ติดยาเสพติดกันอย่างแพร่หลาย ทั้งติดยาเสพติดในระดับรุนแรงและทั่วไป ปัจจุบันมีโครงการสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบุหรี่ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไปตามบ้านและสอนผู้สูงอายุให้เลิกบุหรี่ โดยเปลี่ยนมาสูบกัญชาแทน เนื่องจากปัจจุบันสังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันทั่วโลก
 
 
          "สำหรับกรณีศึกษาที่ถือเป็น Case of The World คือมีคนเกิดอุบัติเหตุและขาหัก ซึ่งต้องใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาปวด หลังจากที่ใช้เยอะขึ้นจนมอร์ฟีนเอาไม่อยู่ จึงต้องหันไปหาเฮโรอีน จนติดเฮโรอีนอย่างหนัก สุดท้ายต้องหันมาใช้กัญชาในการบำบัด และเลิกได้ในที่สุด กลายเป็นเคสที่ดังและทำให้วงการแพทย์ในอเมริกาหันมาใช้กัญชาในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด”
  

          ในประเทศไทยได้เริ่มมีการใช้กัญชาในการเลิกบุหรี่เช่นกัน โดยพบว่าจากคนที่สูบวันละ 2 ซอง เปลี่ยนมาสูบกัญชา 15 วัน ทำให้สูบบุหรี่ลดลงเหลือ 2 มวนต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ได้มีการทดลองใช้กับผู้ที่ติดยาบ้า โดยใช้ CBD ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ หรือ “แม่แตงโมเดล” โดยมีการจัดอบรมในหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ และผู้ที่สนใจ เนื่องจากปัจจุบันมีนักโทษที่ติดยาเสพติดทั่วประเทศกว่า 3 แสนคน ซึ่งต้องเสียงบประมาณวันละ 100 บาทต่อคน ตกวันละ 30 ล้านบาท กลายเป็นงบประมาณแผ่นดินที่นำไปเลี้ยงผู้ติดยาเสพติดแต่ไม่มีอะไรดีขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป
   

          “แม่แตงโมเดล เริ่มต้นในช่วงนิรโทษกรรม ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงนาทีเพชร เรามองว่าคนที่ติดยาเสพติดเป็นคนป่วยที่อันตราย ไปจี้ปล้นฆ่า ทำร้ายลูกเมียคนในครอบครัว ดังนั้นจึงเดินหน้าให้องค์ความรู้ สอน และปฏิบัติจริง ผ่านมา 15 วัน ผู้ที่รับการบำบัดดีขึ้นมาก จิตสำนึกกลับมา รักครอบครัว จากเสพยาบ้าวันละ 5 เม็ด ตอนนี้เหลือวันละ 1 เม็ด และคาดว่าจะเลิกได้ในที่สุด"
 

          ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือกับทางสถานีตำรวจในการแจ้งผู้ที่ประสงค์จะบำบัดมาเข้าร่วม วิธีการบำบัดเริ่มจากอบรมให้ความรู้ ทั้งผู้ที่ติดยาและครอบครัว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คนที่ติดยาเสพติด ในช่วงที่ขาดยาจะมีอาการสั่น ดังนั้นลูกหลานต้องคอยนวดและให้กำลังใจ เอาอาหาร น้ำ หรือชาให้ดื่ม เพื่อให้ผ่อนคลาย ส่วนกัญชานำมาหยดใต้ลิ้น และให้นอนพักผ่อนนานที่สุด รวมถึงใช้สมุนไพรไทยล้างพิษร่วมด้วย หลังจากนี้ตั้งเป้าโครงการอบรมให้ความรู้ตำรวจอีกด้วย
     

          ดร.แก้มหอม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ตั้งใจในตอนนี้คือ พยายามผลักดันให้การใช้ยากัญชาอยู่ใน 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึง เนื่องจากกัญชาผลิตและปลูกในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเดินหน้าเพื่อสร้างให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์เรียนรู้กัญชา โดยการดึง ดร.Uma Dhanabalan แพทย์กัญชาอันดับ 1 ของโลก เข้ามาร่วมงานด้วย
   

          รวมทั้งเทรนด์หมอจากประเทศต่างๆ เพื่อให้มาเรียนรู้กัญชาจากประเทศไทย หากในอนาคตเราสามารถปลดล็อกกัญชาได้สำเร็จ สามารถสั่งกัญชาจากประเทศไทยและเป็นรายได้แบบองค์รวมของประเทศตั้งแต่รากหญ้าถึงทุกคน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้กัญชาเวียงแม่มด จ.เชียงใหม่ ประกอบกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งสนใจในการทำงานวิจัย นวัตกรรม และมีคลินิกแพทย์แผนไทยในการเทรนด์เพื่อใช้การแพทย์แบบผสมผสานได้
  

          อย่างไรก็ตามการนำกัญชามาใช้ควรดูให้ดีว่าขั้นตอนสกัดถูกต้องหรือไม่ หากคนที่ไม่มีความรู้จริงๆ ในการสกัด อาจกลายเป็นพิษได้ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งรายงานว่าพบผู้ป่วยที่อาเจียนเป็นเลือดจากการใช้กัญชาเกินขนาด ดังนั้นจึงควรสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชาให้ถูกต้อง
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) กล่าวว่า มร.จะตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อทำให้การศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาก จึงจำเป็นต้องมีผู้รู้จากต่างประเทศเข้ามาสร้างความรู้เพื่อเดินหน้าศึกษาและเกิดผลระยะยาว การจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้รู้อย่างแท้จริง
   

          ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาอย่างรอบด้านจึงจัดโครงการสัมนาวิชาการ เรื่อง “องค์ความรู้ด้านกัญชากับการรักษาโรค” ในวันที่ 30 เมษายน เวลา 08.30–16.30 น. ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยมี ดร.Uma Dhanabalan ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกจากสหรัฐอเมริกา ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง รวมถึงฝ่ายวิชาการด้านการปลูกกัญชาในระบบปิดแบบเกษตรอินทรีย์และวัสดุนาโน จากบริษัท Goture Nature Science Lab. U.S.A. เป็นวิทยากร

 

ที่มา : komchadluek.net/news

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้